เดี๋ยวนี้หันไปทางไหนก็เห็นแต่กระแสกลูเต็นฟรี นี่มองละเบะปากเพราะเกือบทั้งหมดฉันกินไม่ได้ จะไปกินได้ยังไงในเมื่อพวกนี้มันกะอัพราคากับมนุษย์ที่หลงกระแส ไม่ได้ทำมาให้พวกคนที่กินกลูเตนไม่ได้จริงๆ กิน

แล้วอย่าคิดว่าอ่านฉลากดีๆ แล้วจะรอด เพราะฉลากอาหารไทยนั้นลึก ลึกมากจนฉันเข้าไม่ถึง ตัวอย่างเบาะๆ ก็เช่น:

  • หมูหมักซีอิ้ว แจ้งแค่ว่ามีถั่วเหลือง (ซีอิ้วหมักกับแป้งสาลี)
  • ฉลากแปะช็อคโกแลตนำเข้า ที่ฉลากต้นทางเขียนว่ามีสารก่อภูมิแพ้สี่ห้าอย่างได้ ฉลากไทยเขียนแค่สอง และแน่นอนว่ากลูเตนไม่ค่อยโผล่ในฉลากไทย ต่อให้ฉลากต้นทางมันจะเขียนตัวหนามาก็ตาม

ที่ลำไยกว่าคือ ครั้นจะโทรถามโรงงานผลิตนี่ก็ต้องมาลุ้นอีกว่าเค้าจะรู้งานดีแค่ไหน บางทีแจ็คพอตพนักงานมีคุณภาพก็รอดไป แต่ส่วนใหญ่เจอน้อย ส่วนมากจะตอบแบบขอไปที ตอบแบบส่งๆ หรือไม่โทรกลับเลยก้มี (และแน่นอนว่าฉันจดชื่อบริษัทขึ้นบัญชีหนังหมาไว้แล้ว)

ที่เจอสดๆ วันนี้เลยก็คือ โทรไปถามโรงงานปลากระป๋องว่า ฉลากแจ้งกลูเตนสองระดับมั้ย ระดับแรกคือ ใส่ส่วนผสมนี้ลงไปในผลิตภัณฑ์จริงๆ ระดับสองคือ อาจจะมีส่วนผสมของ…. มาจากการะบวนการผลิตที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ที่ถามแบบนี้เพราะว่า การแจ้ง “อาจจะมีส่วนผสมของ…” ไม่ได้ทำกันทุกที่ และต่อให้ทำก็ใช่ว่าจะแจ้งกลูเตนกัน

มันพีคตรงที่พอพนง.ฟังแล้วก็บอกเลยว่า ผลิตภัณฑ์เราไม่มีกลูเตนเลย ในใจนี่เริ่มเดือดละ วันก่อนเห็นเต็มสองตาว่ามีทูน่าหมักซีอิ๊วญี่ปุ่น ฉลากแจ้งด้วยนะว่ามีแป้งสาลี อ่ะนี่ก็บอกให้ทางนั้นไปเช็คมา

สามชั่วโมงผ่านไป พนง.โทรกลับมาแจ้งว่า ทางบริษัทมีการแจ้งกลูเตนจากโชยุ แต่ประทานโทษ นั่นไม่ใช่คำถามฉัน นี่ต้องจี้แล้วจี้อีก ทางนั้นบทจะหนีก็ไล่ให้ไปอ่านฉลาก ถ้าอ่านมาจนถึงตรงนี้คิดว่าหลายๆ คนคงดูออกว่า ถ้าฉลากมันเชื่อถือได้ฉันคงไม่เสียค่าโทรศัพท์นั่งโทรถามหรอก เปลืองตังแถมเสียเวลาอีก สุดท้ายเลยจี้ถามว่า ถ้ามีผลิตภัณฑ์ ก ที่มีกลูเตน และผลิตภัณฑ์ ข ที่ไม่มีกลูเตน แต่ใช้สายผลิตร่วมกัน มีการตรวจสอบปริมาณกลูเตนตกค้างมั้ยว่าเจอเท่าไหร่ ทางนั้นก็ไปให้คนอ่านกล่องตัวทดสอบกลูเตนมา สรุปว่าฉันกินได้อย่างสบายใจถ้าไม่เจอคำว่า กลูเตน หรือ แป้งสาลีบนฉลาก

เนี่ย เสียเวลานั่งโทรกับรอคำตอบ แล้วใช่ว่าจะเป็นแบบนี้ที่เดียว นี่ถือว่าไวนะสามชั่วโมงน่ะ บางทีรอเป็นอาทิตย์ก็มี

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า สุขภาพของประชาชนหน่วยงานใดๆ ก็ไม่แคร์ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเท่านั้น